ผมว่าคงไม่ต้องบรรยายกันให้ยืนยาวสำหรับความเป็นศิลปินเพื่อชีวิตผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ สุรชัย จันทิมาธร ผู้ผ่านร้อนหนาวมายาวนานกว่า60ปี
จากศิลปินขบถของสังคมที่ชูธงนำเสียงเพลงปฏิวัติ จนกลายมาเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่าน สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน เป็นอะไรต่อมิอะไรมาแล้วมากมายหลากหลายหัวโขนทางสังคม
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ไม่ทราบว่า สุรชัย จันทิมาธร เป็นคนที่เคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนาและนับถือบูชา พระเกจิอาจารย์ โดยเฉพาะทางสายใต้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืดหรือว่า พระอาจารย์นำ ชินวโร แห่งวัดดอนศาลา อีกทั้งยังสะสมพระเครื่อง วัตถุมงคลเอาไว้จำนวนไม่น้อย
แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับหลักคิดที่สำคัญในชีวิตของสุรชัย จันทิมาธร เวลาต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหรืออุปสรรคในชีวิต นั่นก็คือการทำใจให้สงบนิ่ง
ผมมีโอกาสได้นั่งสนทนากับพี่หงายาวๆ ในประเด็นเหล่านี้ เอาเป็นว่า ในบางช่วงบางตอนขอคัดมาให้อ่านกันสั้นๆครับ
คือ ความจริงมันก็คือการสงบนิ่งนั้นแหละ สงบนิ่งแล้วหยุดคิดไตร่ตรอง ส่วนจะมีอะไรพึ่งทางใจได้นั่นมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ไหว้พระหรือว่าคิดในสิ่งที่ดีๆ ทำใจให้สงบแล้วคิดทบทวนว่า เรื่องราวมันเป็นมายังไงแล้วเราจะแก้ไขยังไงได้ ถ้ามันมีวิกฤตินะ ชีวิตของผมมีวิกฤติเยอะ ตลอดมาล่ะ เจอเยอะจริงๆ แต่ก็อย่างที่บอกว่า เวลาเจอเราก็จะพยายามนิ่งทบทวนแล้วก็หาทางแก้ไข แก้ไขเท่าที่จะแก้ได้ มันอาจจะแก้ไม่ได้ทั้งหมด อาจจะต้องใช้เวลาบ้างอะไรบ้าง แต่เราก็พยายามจะหาทางแก้ไข บางทีบางเรื่องเราก็ต้องทน...ทนรับกรรมว่างั้นเถอะ(หัวเราะเบาๆ) ผมเป็นคนเชื่อเรื่องกรรมนะ เพราะกรรมคือผลของการกระทำนั้นเอง เราทำในสิ่งที่มันพลาด มันก็ทำให้เราทุกข์ นั่นคือ ผลกรรม แต่ผมก็เชื่อในสิ่งที่เป็นจริง ไม่ใช่เชื่อถึงขนาดว่าชาติก่อนมีกรรมอะไรทำนองนั้น ไม่ได้เชื่อเป็นตุเป็นตะ แต่..อืมม... แต่บางทีก็อดจะคิดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเราผ่านผู้คนมา ผ่านสังคมมา บางคนเล่าเรื่องให้ฟังก็น่าคิด ว่าเออ ชาติก่อนคงทำกรรมเวรไว้เยอะ(หัวเราะ) มีความเชื่ออยู่บ้างเหมือนกันนะ
ครับ-ไม่น่าเชื่อนะครับว่า อดีตนักปฏิวัติที่อยากจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เมื่อวันเวลาผ่านไปก็ค้นพบสัจธรรมแห่งชีวิตจากพระพุทธศาสนาได้....รายการโทรทัศน์ทั้งหลายน่าจะไปถามไถ่พี่ท่านในประเด็นเหล่านี้บ้างนะครับ ผมว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจไม่เบา!?!
เอก อัคคี
Post by :
Posted
18/10/2013 Time
01:30 pm
1815
0
|